Health

  • วัณโรคคืออะไร เป็นแล้วมีอาการอย่างไร
    วัณโรคคืออะไร เป็นแล้วมีอาการอย่างไร

    วัณโรค คือโรคติดต่อที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียรุนแรง ซึ่งสามารถติดต่อกันผ่านทางอากาศได้ด้วยการหายใจ การจาม การไอ หรือการอยู่ร่วมกับผู้ป่วยวัณโรคติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ

    วัณโรคถือเป็น 1 ใน 10 สาเหตุการเสียชีวิตของคนทั่วโลก โดยองค์กรอนามัยโลกได้เปิดเผยสถิติล่าสุดในปี ค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558) ว่ามีผู้ที่ป่วยทั่วโลกทั้งหมด 10.4 ล้านคน และมีถึง 1.8 ล้านคนที่เสียชีวิตจากวัณโรค
    วัณโรค

    ทั้งนี้วัณโรคเป็นโรคที่พบได้มากในประเทศไทยแต่ไม่ติด 10 อันดับสาเหตุการชีวิตของคนไทย แต่ถึงอย่างนั้น องค์การอนามัยโลกก็ยังจัดให้ประเทศไทยเป็น 1 ใน 22 ประเทศที่ปัญหาวัณโรคสูงมากตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 ซึ่งจำนวนของผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ในกลุ่ม 22 ประเทศเหล่านี้คิดเป็นกว่า 80% ของผู้ป่วยทั่วโลก

    ขณะที่วัณโรคนั้นก็ถือเป็นโรคที่มักเกิดขึ้นในผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี (HIV) เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่บกพร่องจะทำให้เชื้อวัณโรคสามารถติดและแสดงอาการได้ง่าย

    อาการวัณโรคจะแบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะแฝง (Latent TB) และระยะแสดงอาการ (Active TB) โดยเมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อแล้ว เชื้อจะพัฒนาไปอย่างช้า ๆ อาจต้องใช้เวลาเป็นสัปดาห์ ไปจนถึงหลายปี

    ระยะแฝง (Latent TB) ในระยะแฝง เมื่อผู้ป่วยได้รับเชื้อแล้วจะไม่มีอาการใด ๆ แสดงให้เห็น เนื่องจากเชื้อไม่ได้รับการกระตุ้น ทว่าเชื้อแบคทีเรียก็ยังคงอยู่ในร่างกาย และสามารถก่อให้เกิดอาการจนเข้าสู่ระยะแสดงอาการได้ ทั้งนี้หากผู้ป่วยมีการตรวจพบเจอเชื้อในช่วงระยะแฝง แพทย์อาจให้เข้ารับการรักษาและควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อ รวมถึงลดความเสี่ยงที่อาการจะเข้าสู่ระยะแสดงอาการ

    ระยะแสดงอาการ (Active TB) เป็นระยะที่เชื้อได้รับการกระตุ้นจนเกิดอาการต่าง ๆ โดยอาการในระยะนี้จะปรากฎให้เห็นได้ชัดเจน เช่น มีอาการไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด เจ็บหน้าอก หรือรู้สึกเจ็บเวลาหายใจหรือไอ อ่อนเพลีย มีไข้ หนาวสั่น มีอาการเหงื่อออกในเวลากลางคืน น้ำหนักลด และความอยากอาหารลดลง
    ทั้งนี้โดยส่วนใหญ่แล้ววัณโรคจะแสดงอาการที่ปอด ซึ่งเรียกว่า วัณโรคปอด แต่เชื้อก็สามารถกระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ในร่างกายและทำให้เกิดอาการผิดปกติที่เป็นอันตรายได้ เช่น วัณโรคกระดูก วัณโรคเยื่อหุ้มสมอง

    สาเหตุของวัณโรคเกิดจากการติดเชื้อไมโครแบคทีเรียมทูเบอร์คูโลซิส (Mycobacterium Tuberculosis) ที่สามารถแพร่กระจายได้ทางอากาศโดยผ่านทางการไอ จาม การพูด และการหายใจ โดยความเสี่ยงของวัณโรคจะเพิ่มขึ้นหากเป็นผู้ที่เคยพักอาศัย หรือเดินทางมาจากพื้นที่ที่มีผู้ป่วยวัณโรคจำนวนมาก

    การวินิจฉัยวัณโรคเบื้องตนด้วยตนเองสามารถทำได้หากอยู่ในระยะแสดงอาการ แต่ถ้าเป็นระยะแฝงจะไม่มีอาการใด ๆ แสดงให้เห็น จึงต้องอาศัยวิธีการวินิจฉัยโดยแพทย์ โดยในเบื้องต้นแพทย์จะใช้วิธีการตรวจทางผิวหนังเพื่อดูระดับภูมิคุ้มกัน และหากมีความผิดปกติ แพทย์จะสั่งตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติม วิธีที่แพทย์นิยมใช้ในการตรวจวัณโรคได้แก่ การตรวจเลือด และการเอกซเรย์ การส่องกล้อง การตรวจชิ้นเนื้อ การตรวจน้ำไขสันหลัง

    และหากแพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยจะมีอาการของวัณโรค แพทย์จะสั่งเก็บเสมหะของผู้ป่วยเพื่อยืนยันโรค และใช้ตัวอย่างเสมหะเพื่อทดสอบหายาที่สามารถรักษาผู้ป่วยได้

    การรักษาวัณโรคทำได้ด้วยการรับประทานยาต่อเนื่องอย่างสม่ำเสมอควบคู่กับการดูแลสุขภาพ โดยยาที่แพทย์นิยมใช้ในการรักษา ได้แก่ ไอโซไนอาซิด (Isoniazid) ไรแฟมพิซิน (Rifampicin) อีแทมบูทอล (Ethambutol) ไพราซินาไมด์ (Pyrazinamide) แต่ถ้าหากผู้ป่วยมีอาการดื้อยา ก็อาจจะต้องใช้ยาตัวอื่น ๆ ร่วมด้วยเพื่อให้การรักษาเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น สเตรปโตมัยซิน (Streptomycin) และยาลีโวฟลอกซาซิน (Levofloxacin) เป็นต้น

    ยาที่ใช้ในการรักษาวัณโรคนั้นเป็นยาที่มีผลข้างเคียงรุนแรง และอาจเป็นพิษต่อตับ ดังนั้นในการรักษา แพทย์และผู้ป่วยจึงต้องร่วมมือกันสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด ซึ่งถ้าหากผู้ป่วยมีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน ความอยากอาหารลดลง หายใจลำบาก มีอาการไข้ติดต่อกันหลายวันอย่างไม่มีสาเหตุ มีอาการบวมที่บริเวณใบหน้าและลำคอ มีปัญหาในการมองเห็น ผิวซีดเหลือง หรือมีปัสสาวะสีเข้มขึ้นผิดปกติ ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์โดยทันที

    ภาวะแทรกซ้อนของวัณโรคมักเกิดขึ้นจากการรักษาที่ล่าช้า หรือการรักษาที่ไม่ต่อเนื่อง โดยอาการของภาวะแทรกซ้อนอาจไม่รุนแรง หรือรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ ภาวะแทรกซ้อนที่มักพบได้ในผู้ป่วยวัณโรค ได้แก่ ไอเป็นเลือด ฝีในปอด ภาวะน้ำในช่องหุ้มปอด อาการปวดบริเวณหลัง ข้อต่อกระดูกอักเสบ หรืออาจรุนแรงถึงขั้นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ

    การป้องกันวันโรคทำได้ด้วยการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง และระมัดระวังในการอยู่ใกล้กับผู้ป่วยวัณโรคเป็นเวลานาน ๆ หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ควรสวมหน้ากากอนามัย ไม่เพียงเท่านั้น การได้รับวัคซีนบีซีจี (BCG) ก็สามารถช่วยป้องกันวัณโรค ซึ่งวัคซีนดังกล่าวเป็นวัคซีนพื้นฐานที่ต้องฉีดให้เด็กแรกเกิด

    ติดตามเรื่องราวดีๆได้ที่ srfoils.net

Economy

  • ธปท.จ่อออก 3 กฎเบรกก่อหนี้
    ธปท.จ่อออก 3 กฎเบรกก่อหนี้

    ธปท.จ่อออก 3 กฎเบรกก่อหนี้ พบคนไทยถูกชักจูงกู้เงินด้วยคำพูด “ของมันต้องมี”

    ธปท.กังวลหนี้ครัวเรือนสูงลิ่ว คนไทยเข้าสู่วงจรหนี้เร็ว เตรียมออก 3 กฎปล่อยสินเชื่อใหม่ที่มีคุณภาพ หยุดแบงก์กระตุ้นคนก่อหนี้ ให้สินเชื่อตามความเสี่ยง กำหนดอัตราส่วนหนี้ต่อรายได้ เผยตอนนี้คนไทยมีหนี้รวมเฉลี่ยมากกว่า 4 บัญชีต่อคน บางรายสูงกว่ารายได้ถึง 25 เท่า หรือเกษียณแล้วยังต้องผ่อนหนี้กว่า 400,000 บาท

    นายจิตเกษม พรประพันธ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายคุ้มครองและส่งเสริมความรู้ผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวในช่วงการเสวนา “หนี้ครัวเรือนไทย แก้อย่างไรให้ยั่งยืน” จัดขึ้นภายในงานมหกรรมการเงิน ครั้งที่ 23 (Money Expo 2023) ว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ล่าสุดไตรมาสที่ 4 ของปีที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ที่ระดับ 86.9% ของจีดีพี ถือว่าอยู่ในระดับที่ต้องเฝ้าระวังเนื่องจากเกินกว่ามาตรฐานสากลที่ยอมรับได้ที่สัดส่วน 80% ต่อจีดีพี หากคิดเป็นมูลค่าหนี้อยู่ที่สูงถึงกว่า 15 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค หนี้บัตรเครดิตถึง 60% และเป็นหนี้ที่ดีหรือหนี้เพื่อใช้ในการประกอบอาชีพ หรือหนี้บ้านที่เป็นสินทรัพย์จำเป็น 40%

    “ความกังวลของ ธปท.คือ จากการสำรวจข้อมูลจากเครดิตบูโร พบว่า คนไทยเริ่มเข้าวงจรการเป็นหนี้เร็ว โดยพบว่า จากคนไทยอายุ 25 ปี ทั้งหมด 4.8 ล้านคน 58% เริ่มเป็นหนี้แล้ว และหนี้ส่วนหนึ่งกว่า 25% ของจำนวนหนี้กลายเป็นหนี้เสีย และพบว่า คนไทยมีหนี้รวมกันเฉลี่ยแล้ว คนละ 4 บัญชี และพบคนที่มีหนี้สูงสุด ถึง 25 เท่าของเงินเดือน ถือว่าสูงมาก”

    นอกจากนั้น หากพิจารณาความเป็นหนี้นาน พบว่าคนไทยเป็นหนี้เกือบตลอดทั้งชีวิต โดยพบว่า คนไทยที่เกษียณจากงาน หรืออายุมากกว่า 60 ปียังมีหนี้ค้างที่ต้องจ่ายต่อไป ประมาณ 400,000 บาทต่อคน ส่วนหนี้นอกระบบ จากการทำวิจัยของสถาบันป๋วยฯ สำรวจคนไทย 4,600 ครัวเรือน พบ 42% มีหนี้นอกระบบโดยเฉลี่ยคนละ 54,000 บาท อีกทั้งหลังช่วงโควิดพบว่า จำนวนบัญชีที่เป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้น โดยจากหนี้เสีย 10 ล้านบัญชี มีหนี้เสียที่เกิดขึ้นในช่วงโควิดถึง 4.5 ล้านบัญชี โดยอยู่กับธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ 70% และบริษัทให้สินเชื่อที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) อีก 20% ซึ่งต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้มาแก้หนี้โดยเร็ว

    “สาเหตุการเป็นหนี้ที่น่าสนใจ นอกเหนือจากการสร้างหนี้เพื่อใช้จ่าย และการสร้างหนี้จากกรณีจำเป็นฉุกเฉินต่างๆแล้ว พบว่าคนไทยบางส่วนเป็นหนี้โดยไม่มีความรู้ความเข้าใจหนี้ที่ดีพอ และเป็นหนี้จากการถูกกระตุ้นและชักจูงใจ เช่น ใครๆ ก็มี หรือของมันต้องมี เป็นต้น”

    ดังนั้น การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน แบ่งเป็นแนวทางการแก้หนี้เดิมคือ การเร่งรัดการปรับโครงสร้างหนี้ อีกส่วนที่ต้องทำคือ การสร้างหนี้ใหม่ที่มีคุณภาพและเหมาะสม ซึ่ง ธปท.อยู่ระหว่างการดูจังหวะเวลาที่เหมาะสมในการออกกฎเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อที่มีคุณภาพ

    ธปท.จ่อออก 3 กฎเบรกก่อหนี้ พบคนไทยถูกชักจูงกู้เงินด้วยคำพูด "ของมันต้องมี"เพื่อไม่ให้กระทบทั้งลูกหนี้ที่ต้องการเงินเพิ่มและตัวเจ้าหนี้ โดยจะทำให้ 3 เรื่องคือ

    1.การสร้างลูกหนี้และเจ้าหนี้ที่มีคุณภาพ โดยในส่วนของเจ้าหนี้ในการออกโฆษณา หรือประชาสัมพันธ์สินเชื่อ ต้องไม่เป็นไปในทางกระตุ้นให้ก่อหนี้เพิ่มในลักษณะไม่จำเป็น เช่น ของมันต้องมี หรืออื่นๆ และต้องให้ข้อมูลให้ครบถ้วน เช่น ในป้ายบอกดอกเบี้ย 0% ลูกหนี้ดีใจกู้เลย ทั้งที่จริงๆ 0% แค่ 3 เดือน หรือแค่ปีแรกเท่านั้น หรือแนะนำให้ผ่อนบัตรเครดิตขั้นต่ำ ซึ่งกินแต่ดอกเบี้ยไม่ตัดต้นทำให้หนี้ไม่หมดเสียที ควรแนะนำให้ผ่อนมากกว่าขั้นต่ำหรือเต็มจำนวน รวมทั้งต้องแนะนำให้ปรับโครงสร้างหนี้หากเห็นว่าลูกหนี้เริ่มส่งไม่ได้

    2.การปล่อยสินเชื่อจะต้องใช้ความเสี่ยงของลูกหนี้เป็นฐาน เช่น คนที่มีความเสี่ยงน้อยผ่อนชำระดี ได้ดอกเบี้ยต่ำ ขณะที่คนที่เสี่ยงกว่า ไม่ได้แปลว่าจะต้องตัดไม่ให้เขาเข้าถึงแหล่งเงิน แต่อาจจะให้ภายใต้ดอกเบี้ยที่เหมาะสม

    3.ธปท.จะนำมาตรการดูแลความเสี่ยงโดยรวมของระบบเพิ่มเติม เช่น การกำหนดอัตราส่วนหนี้ต่อรายได้ หรือวงเงินรวมสูงสุดที่ผ่อนส่งได้ต่อเดือน เช่น ต้องผ่อนหนี้ไม่เกินกี่เปอร์เซ็นต์ของรายได้แต่ละเดือน เพื่อให้ยังมีเงินพอใช้จ่ายตามสมควรนอกจากนั้น ธปท.จะไปดูแลในเรื่องกฎหมายฟื้นฟู และล้มละลายให้ผู้ล้มละลายกลับมาได้เร็วขึ้น รวมทั้งการเพิ่มช่องทางและรายได้อื่น เช่น ทางออนไลน์ เพื่อให้คนที่ไม่มีเงินเดือนประจำเข้าถึงสินเชื่อได้เพิ่มขึ้นด้วย.

    ขอบคุณรูปภาพจาก : thairath.co.th

    ขอบคุณแหล่งที่มา : thairath.co.th

    สามารถอัพเดตข่าวสารเรื่องราวต่างๆได้ที่ : srfoils.net